ประเพณีวัฒนธรรม

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายต่างจากจังหวัดอื่นๆ มากมาย อาทิเช่น

การแต่งกาย
โกนจุก
บวชนาค
แต่งงาน
ตรุษสงกรานต์
แซนโดนตา

 

ประเพณีการแต่งกาย

        การแต่งกายของชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร มีลักษณะคล้ายคลึงกับคนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แทบทุกประเทศ นั่น คือ ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น แต่ความแตกต่างอยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการทำโสร่งหรือซิ่น ชาวสุรินทร์นิยมใช้ไหม ในการทำ สิ่งเหล่านี้ สตรีชาวสุรินทร์ ยามอยู่บ้านตามปกติจะนิยม ใส่ผ้าซิ่นไหมที่ทอสลับสีกัน ถ้าเป็นผ้าซิ่นสีเขียวขี้ม้าสลับขาว เรียกว่า ผ้าสระมอ ส่วนผ้าสีส้มสลับขาว เรียกว่า ผ้าสาคู แต่ถ้าหาก ไปงานสำคัญหรืองานพิธีต่างๆที่ต้องออกจากบ้าน มักนิยมใส่ผ้าซิ่นที่มีลักษณะ สวยงามเป็นพิเศษ เช่น ผ้าโฮล หรือผ้ามัดหมี่ ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อผ้าไหมที่ทอยกดอก และมีสไบเฉียงเป็นลายยกดอกด้วย

ประเพณีโกนจุก

       ชาวสุรินทร์ในอดีตนิยมไว้ผมให้กับเด็กๆเนื่องจากมีความเชื่อว่า ผมจุกตรงกระหม่อมช่วยกันไม่ให้ กระหม่อมที่บาง โดนน้ำค้างซึ่งอาจทำให้เด็กเป็นหวัดได้ พออายุประมาณ 9,11,13 ขวบ ซึ่งโตแล้วต้องทำพิธี ตัดจุกออกเสียพิธีโกนจุกจึงมีขึ้น การเตรียมพิธีโกนจุกนั้นมีอยู่หลายอย่าง สิ่งแรกคือขนมชนิดต่างๆ ต่อมาก็มีบายศรี เมื่อทำบายศรีเสร็จก็เอาผ้าไหม ใหม่ๆหุ้มห่อบายศรีนั้นไว้ ปะรำพิธีสำหรับพระสงฆ์และเด็กขึ้น ทำพิธีโกนผม เป็นลักษณะเสาต้นกล้วยประกอบไม้ไผ่มีปลาย แหลมข้างบน พิธีจะเริ่มในตอนเย็น โดยนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดมนต์เย็น ก่อนถึงเวลาสวดมนต์จะจัดข้าวปลาอาหารสุกใส่ถาด มาเซ่นบอกผี ปู่ ย่า ตา ยาย ให้อวยพรให้ลูกหลานอายุมั่นขวัญยืน หลังจากนั้นแต่งตัวให้เด็กที่จะโกนจุกด้วยผ้านุ่งขาว มีผ้า ขาว เฉลียงบ่า อาจารย์จะเกล้าผมเด็ก เอาปิ่นปักผมให้ และมีกำไลจุกด้วย หลังจานั้นก็ใส่มงคล ซึ่งทำจากใบตาล ตัดแต่ง เป็นวงขนาดสวมหัวของเด็กพอดี ขณะที่สวมมงคลก็สวดคาถาไปพร้อมๆกัน ในปะรำพิธีนอกจากมี ต้นบายศรีแล้ว ยังมี "ประต็วล" (เป็นไม้ไผ่ผ่าซีกสานเป็นรูปร่างคล้ายกระดิ่งคว่ำหรือระฆังหงาย มีด้ามสั้นๆ สำหรับมัดติด กับเสา เอากระปุกน้ำใส่ ในนั้นเอากรวยห้า(ขันธ์ 5)ใส่ด้วยเชื่อว่า เป็นสถานที่รองรับพระพรหม ซึ่งเป็นเทพชั้นสูงไม่ลงถึงพื้นจึงต้องมีที่สถิตเพื่ออวยพร) มีกระเฌอข้าวเปลือก ใบขวาน ไข่ไก่ และ "บายปะลึง"(คือมีขันข้าว ไข่ไก่ น้ำตาลใส่ในขันเอาใบตองทำกรวยคว่ำครอบปิดไว้ มีใบตองที่ทำเสมือนธงยื่น ขึ้นไปด้วย และมีมะพร้าวอ่อนเตรียมไว้ด้วย) เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จ ก็พาไปนั่งที่ปะรำบนฟูกต่อหน้า ปะต็วล แล้ว เอาข้าวปลาอาหาร เครื่องเซ่นปู่ย่าตายาย ทำการเซ่นบอกว่าลูกหลานจะทำพิธีโกนจุกแล้ว ขอบอกให้ทราบขอเชิญ มากินมาดื่มเถิด สักครู่ก็ยกออกไปเซ่นพระภูมิเจ้าที่ข้างล่าง บอกเชื้อเชิญเช่นกัน เมื่อเสร็จแล้ว ก็นำถาดกลับมาพร้อมสายสิญจ์ ที่ถือว่าตายายให้พรมาแล้ว เอามาผูกแขนเด็กก่อนนิดหนึ่ง อวยชัยให้พรว่า บัดนี้หนูโตแล้ว ต่อไปขอให้ช่วยพ่อแม่ทำงานจะได้ เป็นที่พึ่งของพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า เมื่อทำพิธีเสร็จ ก็กินข้าวปลาอาหาร เมื่อพระสงฆ์นิมนต์มาถึง ก็พาเด็กไปนั่งประนมมือฟังพระ สวดมนต์จนจบแล้วทำพิธีสู่ขวัญ เสร็จแล้วโห่ 3 ลา อาจารย์จะสวดมนต์ต่ออีกระยะหนึ่งเป็นเสร็จพิธีในวันนั้น ตอนเช้าวันโกนจุก จะแต่งตัวเด็ก ใหม่ คือแจกผมเป็น 3 หย่อม เอาแหวนพิรอดที่ทำด้วยหญ้าแพรก 9 วง มาผูกติด ผมจุก แล้วเกล้าจุกปักปิ่น สวมกำไลจุก สวมมงคล ทาแป้ง แต่งผ้าขาวทั้งชุด มีสร้อยคอทองคำ แหวนทองคำเต็มตัว เมื่อลงมา ถึงดิน อาจารย์ ว่าคาถา ขณะเดียวกันก็เดินวนประทักษิณเบญจา 3 รอบ เสร็จแล้วก็พาขึ้นไปนั่งบนปะรำที่ทำลักษณะใบบัว พระสงฆ์ขึ้นตาม อาจารย์ขอสมาทานศีล 5 แล้วกล่าวคำให้สวดโกนจุก ในการทำพิธีโกนจุก จะให้เด็กนั่งตรงกลาง พระสงฆ์ ยืนทั้งสี่มุม มีบาตรน้ำมนต์ที่เอามาจากการสวดพระปริตตอนเย็น มีใบบัวลอยบนผิวน้ำในบาตร เมื่อตอนจะโกนจุกพระสงฆ์ สวดมนต์บทชยันโตฯ เป็นการสวดไม่ยาวนัก พระสงฆ์จะหยิบกรรไกรตัดแล้วนิดหนึ่ง แล้วโกนพอเป็นพิธี อาจารย์จะโกนต่อ จนเกลี้ยง โดยพระสงฆ์จะยังสวดมนต์และรดน้ำมนต์ต่อเนื่องเรื่อยๆจนเสร็จ ผมที่โกนเอาใบบัวรองรับแล้วเอาไปลอยสายน้ำ ที่ไหล บางคนเก็บเอาไว้บูชาก็มี

ประเพณีบวชนาค

      ชาวสุรินทร์ ทั้งเขมร ส่วย ลาว ล้วนนับถือพุทธศาสนาทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อลูกชายมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก่อนจะ มีเหย้ามีเรือน พ่อแม่จะต้องจัดการบวชเพื่อให้ได้ศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนาก่อน ซึ่งส่วนมากจะทำก่อนเข้าพรรษา สิ่งที่จะขาดไม่ได้ในสังคมเขมรคือการเซ่นบอกกล่าวแก่วิญญาณบรรพบุรุษ มีการจัดสำรับข้าวปลาอาหารไปทำพิธี จุดธูปเทียน เซ่นบอกผี การสู่ขวัญนาคเป็นอีกพิธีหนึ่งในการบวชนาค เป็นการเรียกขวัญให้มาสู่ตัวเจ้าของ
สิ่งที่ใช้ประกอบ ในพิธีสู่ขวัญมีดังนี้
      1. ข้าวสาร 1 ขัน
      2. กรวย 5 ธูป 1 คู่ เทียน 1 คู่ และเงินตามที่อาจารย์ถือต่างกัน
      3. ฝาเต้าปูน 9 อัน หรือ 3 อันก็มี
      4. ด้ายผูกแขน
      5. บายปะลึง
      6. บายศรีต้น

เมื่อได้มาแล้ว เขาจะปูเสื่อเอาฟูกพับครึ่ง วางหมอนบนฟูก เอาผ้าขาวปูทับอีกชั้นหนึ่ง ให้นาคมานั่งบนฟูกพนมมือ ฟังอาจารย์สู่ขวัญ เนื้อหาการสู่วัญส่วนใหญ่จะเป็นการบอกกล่าวเทวดา อารักษ์ บอกถึงประวัติการบวชนาค การเชิญขวัญ บอกถึงความลำบากยากเย็นในการฟูมฟักเลี้ยงดูของบิดามารดา และอวยชัยให้พรในการบวช เมื่อสู่ขวัญมีการโห่ร้องเอาชัย ต้อนรับขวัญ ผูกแขนเรียกขวัญ มีการจุดเทียนชัยส่งเทียน ต่อกันวนขวา ไปรอบๆตัวนาค 3 รอบ การทำขวัญนาคเป็นการ อบรมผู้บวชอย่างหนึ่ง
การแห่นาคไปบวช
การบวชนาคนั้นนิยมบวชพร้อมๆกันหลายๆคน การแห่นาคไปวัดจะใช้ช้างแห่นาคไป ซึ่งจะ แต่งแต้มตัวช้างอย่างสวยงาม การใช้ช้างในการแห่นาค บางครั้งเป็นการบ่งบอกถึงฐานะของผู้บวชด้วย

ประเพณีแต่งงาน

ในการแต่งงานของชาวสุรินทร์ เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจที่จะแต่งงานกัน จะต้องตกลงกันในการพิจารณา เชิญแขก โดยทั่วไปในการแต่งงานแขกจะเป็นผู้จัดหาของขวัญมากำนัลคู่บ่าวสาว คู่บ่าวสาว จะเลี้ยงอาหาร ขอบคุณแขก แต่ ชาวสุรินทร์หากเป็นแขกผู้ใหญ่หรือญาติสนิทที่เคารพนับถือ คู่บ่าวสาวจะจัดผ้าไหมมาไหว้แขก ในปัจจุบันฝ่ายเจ้าสาวจะเป็น ผู้ไหว้ญาติฝ่ายเจ้าบ่าว นัยว่าแนะนำตัวหรือฝากเนื้อฝากตัวเข้าร่วมวงศ์ตระกูล และผู้รับไหว้จะต้องเตรียมเงินทองผูกแขนให้ เหมาะสมกับสิ่งที่รับไหว้
ในธรรมเนียม แต่งงานของชาวส่วย การไหว้แขกผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหญิงจะไหว้ญาติฝ่ายชาย ชายโดยไหว้ผ้าไหม จะเป็นผ้าซิ่น โสร่ง หรือผ้าขาวผ้าหรือผ้าฝ้าย ส่วนฝ่ายชายจะไหว้ญาติเจ้าสาวโดยสิ่งที่ไหว้ มักเป็นไก่ (ไก่เป็น) น้ำตาลอ้อย ขันน้ำ ฯลฯ ตามความเหมาะสม และญาติก็จะต้องเตรียมเงินรับไหว้ ตาม ความเหมาะสมเช่นกัน

ประเพณีตรุษสงกรานต์ ตรุษสงกรานต์

คือการทำบุญตามประเพณี ขึ้นปีใหม่ของชาวบ้านของไทย สำหรับชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร จะมีพิธีกรรม ดังนี้ ในวันแรม 13-14 ค่ำ เดือน 4 จะมีการหยุดทำกิจการงานทุกอย่าง ซึ่งเรียกว่า "ตอม" 3 วัน เพื่อร่วมฉลอง วันขึ้นปีใหม่ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นเขาสวายเพื่อไปนมัสการพระพุทธรูปให้เป็นสิริมงคล และสาดน้ำ รดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ในช่วงวันหยุด 3 วัน จะมีการละเล่นมากมาย อาทิ
1. เรือมตรษ เป็นการบอกบุญด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะมีการจัดขบวนรำของหนุ่มสาว ไปตามบ้านต่างๆ เพื่อบอกบุญ เมื่อเจ้าของบ้านร่วมทำบุญแล้ว ก็จะมีการอวยชัยให้พร
2. การทำบุญหมู่บ้าน เมื่อเรือมตรษเสร็จแล้ว ก็จะมีการทำบุญหมู่บ้าน ก่อนถึงวันพิธีจะมีการก่อเจดีย์ทราย เพื่อเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้าน มีการนิมนต์พระมาฉัน และมอบเงินที่ได้รับจากการเรือมตรษถวายวัด
3. การเล่นสะบ้า ใช้เม็ดมะค่าโมง จำนวนข้างละ 20-30 เม็ด ตั้งไว้ให้ฝ่ายตรงข้ามโยนลูกสะบ้าให้โดนล้ม ถ้าฝ่ายใดโยนล้มหมดก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ และจะได้เข็กหัวเข่าผู้แพ้

ประเพณีบุญวันสารท(แซนโดนตา)

เป็นการทำบุญเพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อแสดงความ กตัญญูต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีขึ้นในช่วง วันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 10

ข้อมูลจาก หนังสือ สุรินทร์มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย โดย ศิริ ผาสุก แซมซาย ฉบับพิเศษ โดยมงกุฏ แก่นเดียว ู