พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม)
ประวัติ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวไทยพื้นเมืองสุรินทร์ที่เรียกตัวเองว่า "ส่วย" "กวย" หรือ "กูย" ซึ่งอาศัยในแถบเมือง "อัตปือแสนแป" ในแคว้นจำปาศักดิ์ดินแดนของราชอาณาจักรไทยในสมัยนั้น ได้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา เมื่อ พ.ศ.2260 และได้แยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งตามที่ต่างๆดังนี้ พวกที่ 1 ตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ "ปุม" พวกที่ 2 ตั้งหลักฐานที่บ้านกุดหวายหรือเมืองเตา(อำเภอรัตนบุรี ปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ"สี" หรือ "ตากะอาม" พวกที่ 3 ตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองลีง(เขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ "สง" พวกที่ 4 ตั้งหลักฐานที่บ้านโคกลำดวน(เขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) หัวหน้าชื่อ "ตากะจะ" หรือ "ขัน" พวกที่ 5 ตั้งหลักฐานที่บ้านอัจจะปะนึง หรือ โคกอัจจะ (เขตอำเภอสังขะ ปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ "ฆะ" พวกที่ 6 ตั้งหลักฐานที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิ ปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ "ไชย" ในปี 2302 สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ โปรดเกล้าฯให้สองพี่น้องเป็นหัวหน้ากับไพร่พล 30 นาย ออกติดตามช้างเผือก ซึ่งแตกโรงจากเมืองหลวงเข้าป่าไปทางทิศตะวันออก สองพี่น้องกับไพร่พลได้ติดตามช้าง ไปจนพบกับ เชียงสี แล้วไปหา เชียงสง เชียงปุม เชียงไชย เชียงขัน และเชียงฆะ และได้ทราบจากเชียงฆะว่าเคยเห็น ช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาทั้งสองข้างได้พาโขลงช้างป่าลงเล่นน้ำที่หนองโชก ในตอนบ่ายๆทุกวันจึงได้พา หัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นไปติดตาม เมื่อใช้พิธีกรรมทางคชศาสตร์จับช้างเผือกได้แล้ว สองพี่น้องจึงได้กราบบังคมทูล ถึงการช่วยเหลือติดตามช้างคืน ของเชียงปุมกับพวก ซึ่งได้ติดตามมาส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ จึงได้ทรงพะกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้
1. เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที เป็น หลวงสุรินทรภักดี
2. ตากะจะ หัวหน้าบ้านโคกลำดวน เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
3. เชียงขัน อยู่รวมกับตากะจะ เป็น หลวงปราบ
4. เชียงฆะ หัวหน้าหมู่บ้านอัจจะโคกปะนึง เป็น หลวงเพชร
5. เชียงสี หัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย เป็น หลวงศรีนครเตา
6. เชียงไชย หัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท เป็น ขุนไชยสุริยงค์พร้อมทั้งพระราชทานตราตั้งและโปรดเกล้าฯให้ปกครองหมู่บ้านเดิม ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย พ.ศ.2306 หลวงสุรินทรภักดี(ปุม) ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ย้ายจาก หมู่บ้านเมืองที ไปตั้งอยู่ที่บ้านคูปะทาย หรือบ้านปะทายสมันต์ เพราะบ้านเมืองทีเป็นหมู่บ้านเล็กไม่เหมาะสม ส่วนบ้านคูปะทาย หรือปะทายสมันต์(เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน) เป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่ มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง 2 ชั้นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้อย่างดี ประกอบทั้งเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่ง สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ก็ได้ทรงอนุญาตให้ย้ายได้ หลวงสุรินทรภักดีจึงได้ย้ายอพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูปะทาย ส่วนญาติพี่น้องที่ชื่อ ปืด เกตุ พัน นางสะดา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองที ตามเดิม ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทรภักดี(ปุม) ร่วมกับญาติพากันสร้างเจดีย์ 3 ยอด สูง 18 ศอก หน้าตัก กว้าง 4 ศอก ซึ่งปรากฎที่วัดเมืองที มาจนปัจจุบัน เมื่อย้ายถิ่นฐานจากเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูปะทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุง ศรีอยุธยาโดยนำสิ่งของไปทูลเกล้าฯถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด(นอแรด) งาช้าง น้ำผึ้ง เป็นการส่ง ส่วยตามราชประเพณีเพราะแม้ว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ จะได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงใน ราชอาณา จักรเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักโดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับข้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำ ของไปทูลเกล้าฯถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งบรรดาศักด์ให้ หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้
1. หลวงสุรินทรภักดี(ปุม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูปะทาย เป็น "เมืองปะทายสมันต์" ให้พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง
2. หลวงเพชร(ฆะ) เป็น พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยางเป็น "เมืองสังฆะ " ให้พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เป็นเจ้าเมืองปกครอง
3. หลวงศรีนครเตา ( สีหรือตากะอาม) เป็นพระศรีนครเตา ยกบ้านกุดหวายเป็น "เมืองรัตนบุรี" ให้พระศรี นครเตา เป็นเจ้าเมืองปกครอง
4. หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น "เมืองขุขันธ์" ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองปกครองการปกครองบังคัญบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคัญบัญชาขึ้นตรง ต่อเมืองพิมาย พ.ศ.2321 พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองพิมาย แม่ทัพสั่งให้เจ้าเมืองพิมายแต่งตั้งข้าหลวงออกมา เกณฑ์กำลังเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะ เมืองรัตนบุรี เพื่อให้เป็นกองทัพบกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เมือง เวียงจันทน์ยอมแพ้ยอมขึ้นแก่กรุงธนบุรี ต่อมาได้ไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ไม่ยอมต่อสู้เพราะมีกำลังทหารที่ อ่อนแอ จึงยอมขึ้นต่อกรุงไทย กองทัพไทยจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรี พ.ศ. 2324 เมืองเขมรเกิดจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้รับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพยกกองทัพ ไปปราบปรามการจลาจลครั้งนี้ โดยเกณฑ์กำลัง ของเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์และเมืองสังฆะ สมทบกับกองทัพหลวงด้วย การไปปราบปรามครั้งนี้กองทัพไทยเคลื่อนขบวน ไปตีเมืองเสียมราฐ เมืองกำพงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ เมืองรูงตำแรย์(ถ้ำช้าง) เมืองเหล่านี้ยอมแพ้ขอขึ้น เป็นข้าขอบขันฑสีมา เสร็จแล้วก็ยกกองทัพกลับกรุงธนบุรี บ้านเมืองที่ตีได้ก็กวาดต้อนพลเมืองมาบ้าง บางพวกก็อพยพมาเอง ในโอกาสนี้ได้มีลาว บราย เขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำพงสวาย บรรทายเพชร อพยพมาทางเมืองสุรินทร์ ออกญาแอก และนางรอง พาบ่าวไพร่มาอยู่ที่บ้านนางรอง ออกญารินทร์เสน่หาจางวาง ออกญาไกรแป้น ออกญาตูม นางสาวดาม มาตไวบุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชรและพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐได้พากันมาอยู่ที่เมืองปะทายสมันต์(เมืองสุรินทร์) เป็นจำนวนมาก บ้างก็แยกไปอยู่เมืองสังฆะ ไปอยู่บ้านกำพงสวาย(แขวงอำเภอท่าตูม)บ้าง ในโอกาสนี้เอง พระสุรินทรภักดี ศรีณรงค์จางวาง(ปุม) เจ้าเมืองปะทายสมันต์จึงจัดพิธีแต่งงานนางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชรกับหลานชาย ชื่อ"สุ่น" {นายสุ่น เป็นบุตรของนายตี ซึ่งเป็นบุตรชายคนแรกของพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม)} เมื่อชาวเขมรทราบว่า นางสาวดาม มาตไว ได้หลานสะใภ้ของพระสุรินทรฯก็พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านคูปะทาย หรือ บ้านปะทายสมันต์ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมร และเพราะเหตุที่เขมรรุ่งเรืองมาก่อน ความเป็นอยู่จึงผันแปรไปทางเขมร เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทน์และเมืองเขมรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้ปูนบำเหน็จให้แก่ เจ้าเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์และเมืองสังฆะ โดยเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระยา" ทั้ง 3 เมือง พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเมือง ปะทายสมันต์ เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาของเจ้าเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในการเปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพิมายแบ่งปันอาณาเขต ให้เมืองสุรินทร์ ดังนี้ ทิศเหนือ จดลำห้วยพลับพลา ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับแขวงเมืองรัตนบุรี ตั้งแต่แม่น้ำมูลถึงหลักหินตะวันออกบ้านโพนงอย ถึงบ้าน โคกหัวลาวและต่อไปยังบ้านโนนเปือย และตามคลองห้วยถึงบ้านนาดี บ้านสัจจังบรรจง ไปทางตะวันออกถึงห้วยทับทัน ทิศตะวันออก จดห้วยทับทัน ทิศตะวันตก ถึงลำห้วยตะโคง หรือ ชะโกง มีบ้านกก บ้านโคกสูง แนงทม สองชั้นและห้วยราช(ส่วนทางทิศใต้ ไม่ได้บอกไว้เพราะขณะนั้นเมืองเขมรบางส่วนได้อยู่ในความปกครองของไทย เช่นบ้านจงกัลในเขตเขมรปัจจุบัน เคยเป็นอำเภอ จงกัลของไทยขึ้นอยู่กับอำเภอสังฆะ) เมื่อ พ.ศ. 2337 พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม)ถึงแก่กรรมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง บุตรหลานของท่านให้เป็นเจ้าเมือง ปกครองสืบเชื้อสายต่อมาเป็นเวลานาน ตามลำดับดังนี้
1. พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ตี) บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม) ซึ่งต่อมาได้รับพระมหา- กรุณาธิคุณเปลี่ยนนามเป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ระหว่าง พ.ศ. 2337-2351
2. พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(มี) บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม) ระหว่าง พ.ศ. 2351-2354
3. พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(สุ่น) บุตรพระสุรินทรภักดีศรีผไทสมันต์(ตี) ระหว่าง พ.ศ. 2354-2394
4. พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(ม่วง) บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีผไทสมันต์(สุ่น) ระหว่าง พ.ศ.2395-2432
5. พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(เยียบ)บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีผไทสมันต์(ม่วง) ระหว่าง พ.ศ.2432-2433
6. พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(ม่วง) ระหว่าง พ.ศ.2433-2434
7. พระไชยณรงค์ภักดี(บุนนาค)บุตรพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(สุ่น) ระหว่าง พ.ศ.2435-2436
8. พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(จรัญปหลานพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ตี) ระหว่าง พ.ศ. 2436-2438
9. พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(บุญจันทร์) หลานพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(มี) ระหว่าง พ.ศ.2438-2450
10. พระประเสริฐสุรินทรบาล(ตุ่มทอง) บุตรพระไชยณรงค์ภักดี(บุนนาค) ระหว่าง พ.ศ. 2450-2451(จากหนังสือที่ระลึกในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม) ผู้สร้างเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2528)